ประวัติความเป็นมาของโครงการเพชรในตม

          คณะรัฐมนตรี ได้รับอนุมัติในหลักการจัดตั้ง โครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2517 โดยศูนย์อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ศอพป.กอ.รมน.) ในขณะนั้นเป็นผู้ประสานการดำเนินงาน และได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 18/2518 ลงวันที่ 23 มกราคม 2518 กำหนดให้โครงการ อพป. เป็นโครงการระดับชาติ ตามนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะ คอมมิวนิสต์โดยวิธีการใหม่ และให้ถือเป็นโครงการเร่งด่วนสูงสุดที่ส่วนราชการทุกระดับจะต้องให้ความร่วมมือ สนับสนุน เพื่อส่งเสริมสร้างความมั่นคงทาง เศรษฐกิจ สังคม การปกครอง และการรักษาความปลอดภัยให้เกิดขึ้นใน หมู่บ้านต่าง ๆ ในชนบทห่างไกล

          ปี พ.ศ. 2529 พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รักษาราชการผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้ ศูนย์อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จัดทำโครงการ “เพชรในตม” ขึ้น โดยได้ เล็งเห็นว่าการให้การศึกษาแก่ราษฎร ในหมู่บ้านที่ห่างไกลเท่านั้น จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ จึงได้ ประสานความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง มีผลการเรียนดี แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน ทำการคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นรุ่นที่ 1 ของปีการศึกษา 2529 

           วันที่ 5 มิถุนายน 2529 พลเอก ประเทียบ เทศวิศาล ผู้อำนวยการศูนย์อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ในขณะนั้น ได้นำนิสิตโครงการเพชรในตม รุ่นที่ 1 จำนวน 29 คน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ในฐานะที่ท่านเป็น ผู้มีความสนใจและได้ริเริ่มให้มีการจัดทำโครงการฯ และให้การสนับสนุนโครงการเพชรในตม จึงได้บริจาคทรัพย์เพื่อใช้ ดำเนินการในโครงการเป็นทุนเริ่มแรกจำนวนหนึ่งแสนบาท ส่วนกิจการพลเรือน ฯ ได้มอบเงินสมทบอีกจำนวนหนึ่ง และคณะกรรมการโครงการเพชรในตมจึงขออนุญาตจาก พลเอก อาทิตย์ ฯ จัดตั้งเป็นกองทุนโดยขอใช้ชื่อว่า “กองทุนกำลังเอก (เพชรในตม)” โดยใช้ดอกผลจากกองทุน ฯ เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่เนื่องจากการ ดำเนินงานตามโครงการนี้จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำนวนมาก กองทุนที่จัดตั้งไว้ไม่เพียงพอ ท่านจึงมีดำริการรณรงค์จัดหาทุนเพิ่มเติมโดยจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ตามโอกาสอันสมควร และได้มอบให้ คุณชม้อย รัตนสุวรรณ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและกรรมการ ดำเนินการ เป็นผู้ประสานงาน ริเริ่มจัดกิจกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจัดให้มีการแข่งขัน ชกมวยนัดพิเศษ ขึ้น ณ เวทีมวยลุมพินี ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2529 ได้เงินประมาณล้านบาทเศษ (1,130,754.61 บาท) ซึ่งทำให้ดำเนินการไปได้คล่องตัวมากขึ้นกว่าเดิม และ ในวันที่ 5 มิถุนายน 2529 นี้เอง พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งท่านเป็นผู้มองการณ์ไกล มีความห่วงใยนิสิต ปัจจุบัน และนิสิตรุ่นต่อ ๆ ไป ทราบว่านิสิต เหล่านี้พักอาศัยอยู่ตามหอพักของเอกชนทำให้เกิดความห่วงใยว่านิสิต อาจได้รับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี จนอาจขาดความ สนใจ ต่อการศึกษากอปรกับผู้ปกครองส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ด้วยความห่วงใย ความเมตตา และความสามารถที่ มองเห็นการณ์ไกลนี้ ทำให้ท่านมอบให้ พลโท จรวย วงศ์สายัณห์ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการพลเรือน กองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ควบคุม กำกับดูแลงานของศูนย์อาสาพัฒนาและป้องกันตนเองดำเนินการ ประสานกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยหาพื้นที่ในบริเวณมหาวิทยาลัย ฯ เพื่อสร้างหอพัก ขนาดจุนิสิตได้ 4 รุ่น รุ่นละ 30 คน รวม 120 คน (ปีที่ 1-4) โดยบริจาคเงินส่วนตัวอีก 5 ล้านบาทเศษ เป็นค่าจัดสร้างหอพัก หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้ประสานงานการก่อสร้าง จนสำเร็จและได้เชิญท่านไปเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารหอพักนิสิตโครงการเพชรในตม ในวันที่ 7 สิงหาคม 2529 และนิสิตได้เข้าไปพำนักอยู่ตั้งแต่ วันที่ 9 มิถุนายน 2530 จนถึงปัจจุบัน

        คณะรัฐมนตรีมีมติ ( 24 เมษายน 2533) อนุมัติในหลักการโครงการเพชรในตม ตามที่สำนักงานสภา ความมั่นคงแห่งชาติเสนอ โดยให้ กอ.รมน. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการ และให้บรรจุบัณฑิตโครงการเพชรในตม เป็นข้าราชการครูในสังกัดสำนักงานการประศึกษาแห่งชาติ (สปช.) เดิมโดยไม่ต้องสอบแข่งขันเป็นกรณีพิเศษปีละ 30 คน (เอกสารหมายเลข 1)

       ส่วนกิจการพลเรือน สำนักเลขาธิการ กอ.รมน. ได้ออกคำสั่ง กอ.รมน. ที่ 207/2533 ลง 11 ก.ค.33 แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการเพชรในตม โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ คณะที่ปรึกษา, คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการดำเนินการ ให้มีหน้าที่ให้คำปรึกษา กำกับ ดูแล รับผิดชอบการดำเนินการโครงการเพชรในตมให้ บรรลุวัตถุประสงค์ และได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่ง กอ.รมน. ที่ 207/2533 ลง 11 ก.ค.33 และ แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา, คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการดำเนินการใหม่ ตามคำสั่ง กอ.รมน. ที่ 13/2542 ลง 18 ม.ค.42

วัตถุประสงค์ของโครงการ

1. เพื่อส่งเสริมเยาวชนและครูประจำการในพื้นที่พัฒนาเพื่อความมั่นคง ที่มีการดำเนินงานตามโครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ให้เพิ่มพูนความรู้ทางการศึกษาสูงขึ้นถึงระดับปริญญา

2. เพื่อคัดเลือกบุคลากรที่มีแววของความเป็นครู ใจรักวิชาชีพครู มีความรู้ ความสามารถ และความ ประพฤติเหมาะสมที่จะเป็นครูดี เปรียบเสมือนเพชรน้ำหนึ่งในวงการครูตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อร่วมมือประสานงานกับโครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ในการพัฒนาบุคคลให้มีคุณภาพ อันจะช่วยให้การพัฒนาทรัพยากรอื่นๆ บรรลุตามเป้าหมาย

การบูรณาการความร่วมมือ

โครงการ “เพชรในตม” เป็นความร่วมมือ 3 หน่วยงาน ได้แก่

1. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ทำหน้าที่ คัดเลือกเยาวชนจากหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกัน ตนเอง (อพป.) ทั่วประเทศ เข้ามาศึกษาต่อที่คณะศึกษาศาสตร์ ในระดับปริญญาตรีหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.), จัดหาที่พักอาศัย, ที่ศึกษาเล่าเรียน และทุนการศึกษาส่วนหนึ่งให้กับนิสิต ตลอดหลักสูตร ทั้ง 5 ปี

2. กอ.รมน. ให้การสนับสนุนทุนการศึกษา กิจกรรมพิเศษ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ตลอด หลักสูตรทั้ง 5 ปี

3. กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่จัดหาอัตราเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการในท้องถิ่น ของนิสิตแต่ละคน   

คุณสมบัติเฉพาะของผู้มีสิทธิ์สมัครโครงการเพชรในตม

1. ผู้สมัครมีสัญชาติไทย

2. บิดาหรือมารดาและผู้สมัคร มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ตามพื้นที่ประกาศรับรองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจนถึงวันรับสมัคร

3. เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งผู้ที่มีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี รายได้ต่อครอบครัว พิจารณาจากรายได้รวมของบิดา-มารดา ในกรณีที่บิดา-มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือ รายได้ของผู้ปกครอง ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองมิใช่บิดา-มารดา

4. กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษาที่สมัครสอบ (มหาวิทยาลัยจะไม่พิจารณาผู้ที่สอบเทียบได้หรือผู้ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว) โดยมีคะแนนเฉลี่ยสะสม นับตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนถึงภาคเรียนที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (รวม 5 ภาคเรียน) ไม่ต่ำกว่า 2.75

5. มีผลการสอบ TGAT/TPAT5/A-level ตามองค์ประกอบ

6. เป็นผู้มีความประพฤติดี มีลักษณะเป็นผู้นำที่ดี มีความรับผิดชอบ มีวินัย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีจิตอาสาเพื่อส่วนรวม โดยมีหนังสือรับรองความประพฤติดังกล่าวจากผู้บริหารสถานศึกษา

7. มีสุขภาพร่างกายและจิตใจสมบูรณ์แข็งแรง

8. มีบุคลิกภาพดีที่เหมาะสมกับการเป็นครู

9. ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ และ/หรือเป็นโรคที่จะเบียดเบียน หรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการประกอบวิชาชีพครู

10. ต้องไม่เป็นผู้ที่ยืนยันสิทธิ์ หรือรายงานตัวเข้าเป็นนิสิตในสถาบันอุดมศึกษาใดๆ จากการคัดเลือก TCAS รอบที่ 1 ในปีการศึกษานั้นๆ

จำนวนรับนิสิตเพชรในตมในแต่ละปีการศึกษา

ปัจจุบัน โครงการเพชรในตมมีจำนวนรับนิสิต รวมทั้งสิ้น 161 คน  ดังนี้

1. กอ.รมน.ภาค 1 รับจำนวน    50  คน

2. กอ.รมน.ภาค 2 รับจำนวน    40  คน

3. กอ.รมน.ภาค 3 รับจำนวน    34  คน

4. กอ.รมน.ภาค 4 รับจำนวน    37  คน   (22 + 15)

หมายเหตุ : จังหวัดละ 2 คน รวมเป็น 146 คน ยกเว้นผู้มีภูมิลำเนาอยุ่กรุงเทพมหานครจังหวัดในสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา) คือ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัด นราธิวาส และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอนาทวี อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา รวมจำนวนรับ 15 คน

สถิติการรับนิสิตโครงการเพชรในตมและนิสิตโครงการเพชรในตมสำเร็จการศึกษา

ปีการศึกษา รุ่น จำนวนรับนิสิต จำนวนนิสิตที่ได้ จำนวนนิสิตจบการศึกษา
2559 31 45 45 45
2560 32 45 45 45
2561 33 45 45 45
2562 34 45 45 45
2563 35 45 45 กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4
2564 36 45 45 กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3
2565 37 45 44 กำลังศึกษาชั้นปีที่ 2
2566 38 161 155 กำลังศึกษาชั้นปีที่ 1
2567 39 161 - กำลังรับสมัคร

อ้างอิง

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.  (2566).  ข้อมูลโครงการเพชรในตม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย.

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.  (2566).  ประกาศมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่อง  การรับสมัครคัดเลือกเข้าเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี TCAS รอบที่ 2 Quota โครงการเพชรในตม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย.

ชำนาญ แสงแก้ว.  (2541).  การบริหารโครงการเพชรในตม.  กรุงเทพฯ: คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.

Search

Off Canvas Menu