คณะรัฐมนตรี ได้รับอนุมัติในหลักการจัดตั้ง โครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2517 โดยศูนย์อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ศอพป.กอ.รมน.) ในขณะนั้นเป็นผู้ประสานการดำเนินงาน และได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 18/2518 ลงวันที่ 23 มกราคม 2518 กำหนดให้โครงการ อพป. เป็นโครงการระดับชาติ ตามนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะ คอมมิวนิสต์โดยวิธีการใหม่ และให้ถือเป็นโครงการเร่งด่วนสูงสุดที่ส่วนราชการทุกระดับจะต้องให้ความร่วมมือ สนับสนุน เพื่อส่งเสริมสร้างความมั่นคงทาง เศรษฐกิจ สังคม การปกครอง และการรักษาความปลอดภัยให้เกิดขึ้นใน หมู่บ้านต่าง ๆ ในชนบทห่างไกล
ปี พ.ศ. 2529 พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รักษาราชการผู้บัญชาการทหารบก ได้ให้ ศูนย์อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จัดทำโครงการ “เพชรในตม” ขึ้น โดยได้ เล็งเห็นว่าการให้การศึกษาแก่ราษฎร ในหมู่บ้านที่ห่างไกลเท่านั้น จะสามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ จึงได้ ประสานความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดรับสมัครนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง มีผลการเรียนดี แต่ครอบครัวมีฐานะยากจน ทำการคัดเลือกเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นรุ่นที่ 1 ของปีการศึกษา 2529
วันที่ 5 มิถุนายน 2529 พลเอก ประเทียบ เทศวิศาล ผู้อำนวยการศูนย์อาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ในขณะนั้น ได้นำนิสิตโครงการเพชรในตม รุ่นที่ 1 จำนวน 29 คน เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ในฐานะที่ท่านเป็น ผู้มีความสนใจและได้ริเริ่มให้มีการจัดทำโครงการฯ และให้การสนับสนุนโครงการเพชรในตม จึงได้บริจาคทรัพย์เพื่อใช้ ดำเนินการในโครงการเป็นทุนเริ่มแรกจำนวนหนึ่งแสนบาท ส่วนกิจการพลเรือน ฯ ได้มอบเงินสมทบอีกจำนวนหนึ่ง และคณะกรรมการโครงการเพชรในตมจึงขออนุญาตจาก พลเอก อาทิตย์ ฯ จัดตั้งเป็นกองทุนโดยขอใช้ชื่อว่า “กองทุนกำลังเอก (เพชรในตม)” โดยใช้ดอกผลจากกองทุน ฯ เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่เนื่องจากการ ดำเนินงานตามโครงการนี้จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำนวนมาก กองทุนที่จัดตั้งไว้ไม่เพียงพอ ท่านจึงมีดำริการรณรงค์จัดหาทุนเพิ่มเติมโดยจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ตามโอกาสอันสมควร และได้มอบให้ คุณชม้อย รัตนสุวรรณ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและกรรมการ ดำเนินการ เป็นผู้ประสานงาน ริเริ่มจัดกิจกรรมขึ้นเป็นครั้งแรก โดยจัดให้มีการแข่งขัน ชกมวยนัดพิเศษ ขึ้น ณ เวทีมวยลุมพินี ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2529 ได้เงินประมาณล้านบาทเศษ (1,130,754.61 บาท) ซึ่งทำให้ดำเนินการไปได้คล่องตัวมากขึ้นกว่าเดิม และ ในวันที่ 5 มิถุนายน 2529 นี้เอง พลเอก อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งท่านเป็นผู้มองการณ์ไกล มีความห่วงใยนิสิต ปัจจุบัน และนิสิตรุ่นต่อ ๆ ไป ทราบว่านิสิต เหล่านี้พักอาศัยอยู่ตามหอพักของเอกชนทำให้เกิดความห่วงใยว่านิสิต อาจได้รับสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี จนอาจขาดความ สนใจ ต่อการศึกษากอปรกับผู้ปกครองส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ด้วยความห่วงใย ความเมตตา และความสามารถที่ มองเห็นการณ์ไกลนี้ ทำให้ท่านมอบให้ พลโท จรวย วงศ์สายัณห์ ผู้อำนวยการศูนย์กิจการพลเรือน กองอำนวยการ รักษาความมั่นคงภายในขณะนั้น ซึ่งเป็นผู้ควบคุม กำกับดูแลงานของศูนย์อาสาพัฒนาและป้องกันตนเองดำเนินการ ประสานกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยหาพื้นที่ในบริเวณมหาวิทยาลัย ฯ เพื่อสร้างหอพัก ขนาดจุนิสิตได้ 4 รุ่น รุ่นละ 30 คน รวม 120 คน (ปีที่ 1-4) โดยบริจาคเงินส่วนตัวอีก 5 ล้านบาทเศษ เป็นค่าจัดสร้างหอพัก หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ได้ประสานงานการก่อสร้าง จนสำเร็จและได้เชิญท่านไปเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารหอพักนิสิตโครงการเพชรในตม ในวันที่ 7 สิงหาคม 2529 และนิสิตได้เข้าไปพำนักอยู่ตั้งแต่ วันที่ 9 มิถุนายน 2530 จนถึงปัจจุบัน
คณะรัฐมนตรีมีมติ ( 24 เมษายน 2533) อนุมัติในหลักการโครงการเพชรในตม ตามที่สำนักงานสภา ความมั่นคงแห่งชาติเสนอ โดยให้ กอ.รมน. ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการ และให้บรรจุบัณฑิตโครงการเพชรในตม เป็นข้าราชการครูในสังกัดสำนักงานการประศึกษาแห่งชาติ (สปช.) เดิมโดยไม่ต้องสอบแข่งขันเป็นกรณีพิเศษปีละ 30 คน (เอกสารหมายเลข 1)
ส่วนกิจการพลเรือน สำนักเลขาธิการ กอ.รมน. ได้ออกคำสั่ง กอ.รมน. ที่ 207/2533 ลง 11 ก.ค.33 แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการเพชรในตม โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญได้แก่ คณะที่ปรึกษา, คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการดำเนินการ ให้มีหน้าที่ให้คำปรึกษา กำกับ ดูแล รับผิดชอบการดำเนินการโครงการเพชรในตมให้ บรรลุวัตถุประสงค์ และได้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่ง กอ.รมน. ที่ 207/2533 ลง 11 ก.ค.33 และ แต่งตั้งคณะที่ปรึกษา, คณะกรรมการอำนวยการ และคณะกรรมการดำเนินการใหม่ ตามคำสั่ง กอ.รมน. ที่ 13/2542 ลง 18 ม.ค.42
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1. เพื่อส่งเสริมเยาวชนและครูประจำการในพื้นที่พัฒนาเพื่อความมั่นคง ที่มีการดำเนินงานตามโครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ให้เพิ่มพูนความรู้ทางการศึกษาสูงขึ้นถึงระดับปริญญา
2. เพื่อคัดเลือกบุคลากรที่มีแววของความเป็นครู ใจรักวิชาชีพครู มีความรู้ ความสามารถ และความ ประพฤติเหมาะสมที่จะเป็นครูดี เปรียบเสมือนเพชรน้ำหนึ่งในวงการครูตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อร่วมมือประสานงานกับโครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ในการพัฒนาบุคคลให้มีคุณภาพ อันจะช่วยให้การพัฒนาทรัพยากรอื่นๆ บรรลุตามเป้าหมาย
การบูรณาการความร่วมมือ
โครงการ “เพชรในตม” เป็นความร่วมมือ 3 หน่วยงาน ได้แก่
1. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ทำหน้าที่ คัดเลือกเยาวชนจากหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกัน ตนเอง (อพป.) ทั่วประเทศ เข้ามาศึกษาต่อที่คณะศึกษาศาสตร์ ในระดับปริญญาตรีหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.), จัดหาที่พักอาศัย, ที่ศึกษาเล่าเรียน และทุนการศึกษาส่วนหนึ่งให้กับนิสิต ตลอดหลักสูตร ทั้ง 5 ปี
2. กอ.รมน. ให้การสนับสนุนทุนการศึกษา กิจกรรมพิเศษ และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ตลอด หลักสูตรทั้ง 5 ปี
3. กระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่จัดหาอัตราเพื่อบรรจุแต่งตั้งให้เป็นข้าราชการในท้องถิ่น ของนิสิตแต่ละคน
คุณสมบัติเฉพาะของผู้มีสิทธิ์สมัครโครงการเพชรในตม
1. ผู้สมัครมีสัญชาติไทย
2. บิดาหรือมารดาและผู้สมัคร มีภูมิลำเนาอยู่ในหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ตามพื้นที่ประกาศรับรองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจนถึงวันรับสมัคร
3. เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งผู้ที่มีรายได้ต่อครอบครัวไม่เกิน 360,000 บาทต่อปี รายได้ต่อครอบครัว พิจารณาจากรายได้รวมของบิดา-มารดา ในกรณีที่บิดา-มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง หรือ รายได้ของผู้ปกครอง ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองมิใช่บิดา-มารดา
4. กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และจะสำเร็จการศึกษาในปีการศึกษาที่สมัครสอบ (มหาวิทยาลัยจะไม่พิจารณาผู้ที่สอบเทียบได้หรือผู้ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้ว) โดยมีคะแนนเฉลี่ยสะสม นับตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จนถึงภาคเรียนที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 (รวม 5 ภาคเรียน) ไม่ต่ำกว่า 2.75
5. มีผลการสอบ TGAT/TPAT5/A-level ตามองค์ประกอบ
6. เป็นผู้มีความประพฤติดี มีลักษณะเป็นผู้นำที่ดี มีความรับผิดชอบ มีวินัย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีจิตอาสาเพื่อส่วนรวม โดยมีหนังสือรับรองความประพฤติดังกล่าวจากผู้บริหารสถานศึกษา
7. มีสุขภาพร่างกายและจิตใจสมบูรณ์แข็งแรง
8. มีบุคลิกภาพดีที่เหมาะสมกับการเป็นครู
9. ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ และ/หรือเป็นโรคที่จะเบียดเบียน หรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาและการประกอบวิชาชีพครู
10. ต้องไม่เป็นผู้ที่ยืนยันสิทธิ์ หรือรายงานตัวเข้าเป็นนิสิตในสถาบันอุดมศึกษาใดๆ จากการคัดเลือก TCAS รอบที่ 1 ในปีการศึกษานั้นๆ
จำนวนรับนิสิตเพชรในตมในแต่ละปีการศึกษา
ปัจจุบัน โครงการเพชรในตมมีจำนวนรับนิสิต รวมทั้งสิ้น 161 คน ดังนี้
1. กอ.รมน.ภาค 1 รับจำนวน 50 คน
2. กอ.รมน.ภาค 2 รับจำนวน 40 คน
3. กอ.รมน.ภาค 3 รับจำนวน 34 คน
4. กอ.รมน.ภาค 4 รับจำนวน 37 คน (22 + 15)
หมายเหตุ : จังหวัดละ 2 คน รวมเป็น 146 คน ยกเว้นผู้มีภูมิลำเนาอยุ่กรุงเทพมหานครจังหวัดในสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า (พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา) คือ จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัด นราธิวาส และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา ได้แก่ อำเภอนาทวี อำเภอจะนะ อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอเทพา รวมจำนวนรับ 15 คน
สถิติการรับนิสิตโครงการเพชรในตมและนิสิตโครงการเพชรในตมสำเร็จการศึกษา
ปีการศึกษา | รุ่น | จำนวนรับนิสิต | จำนวนนิสิตที่ได้ | จำนวนนิสิตจบการศึกษา |
2559 | 31 | 45 | 45 | 45 |
2560 | 32 | 45 | 45 | 45 |
2561 | 33 | 45 | 45 | 45 |
2562 | 34 | 45 | 45 | 45 |
2563 | 35 | 45 | 45 | กำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 |
2564 | 36 | 45 | 45 | กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 |
2565 | 37 | 45 | 44 | กำลังศึกษาชั้นปีที่ 2 |
2566 | 38 | 161 | 155 | กำลังศึกษาชั้นปีที่ 1 |
2567 | 39 | 161 | - | กำลังรับสมัคร |
อ้างอิง
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. (2566). ข้อมูลโครงการเพชรในตม. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย.
คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. (2566). ประกาศมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เรื่อง การรับสมัครคัดเลือกเข้าเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี TCAS รอบที่ 2 Quota โครงการเพชรในตม คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย.
ชำนาญ แสงแก้ว. (2541). การบริหารโครงการเพชรในตม. กรุงเทพฯ: คณะศึกษาศาสตร์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.